วันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

ลำดับเหตุการประวัติเพลงชาติไทยในแต่ละช่วงยุคสมัย

ที่มาของทำนองเพลงชาติในปัจจุบัน ตามคำกล่าวของพระเจนดุริยางค์

พระเจนดุริยางค์ หรือ ปิติ วาทยะกร (ชื่อเดิม: ปีเตอร์ ไฟท์)

พระเจนดุริยางค์ได้กล่าวไว้ว่า ราวปลายปี 2474 หลวงนิเทศกลกิจ ซึ่งเป็นเพื่อนทหารเรือชั้นผู้ใหญ่คนหนึ่งของท่าน ได้ขอให้ท่านแต่งเพลงสำหรับชาติขึ้นหนึ่งเพลง ในลักษณะเพลงลามาร์แซแยส ซึ่ง พระเจนดุริยางค์ ได้ปฏิเสธไป เพราะเห็นว่าเพลงสรรเสริญพระบารมีเป็นเพลงชาติอยู่แล้ว และการแต่งเพลงนี้ก็ไม่ใช่คำสั่งของทางราชการด้วย ถึงแม้ว่าในภายหลัง หลวงนิเทศกลกิจ จะมาติดต่อให้เเต่งเพลงนี้อยู่อีกหลายครั้ง แต่พระเจนดุริยางค์ ก็บ่ายเบี่ยงมาตลอด เพราะสงสัยว่าการให้แต่งเพลงนี้เกี่ยวข้องกับการเมือง ประกอบกับในเวลานั้นมีข่าวลืออย่างหนาหูเกี่ยวกับเรื่องการปฏิวัติ

เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในพ.ศ. 2475

คณะราษฎรได้ประกาศให้ใช้เพลงชาติมหาชัย ประพันธ์เนื้อร้องโดย เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี หรือ สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา เป็นเพลงชาติใช้ชั่วคราวระหว่างรอพระเจนดุริยางค์แต่งเพลงชาติใหม่ เเต่ไม่ค่อยได้รับความนิยมจากประชาชนเท่าไหร่นัก และต่อมาจึงได้เปลี่ยนมาเป็นเพลงชาติที่แต่งทำนองโดยพระเจนดุริยางค์ เป็นเพลงชาติอย่างเป็นทางการเเทนเพลงสรรเสริญพระบารมี

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในวันที่24 มิถุนายน พ.ศ. 2475

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ผ่านไปประมาณ 5 วันแล้ว พระเจนดุริยางค์ รู้ภายหลังว่า หลวงนิเทศกลกิจ เป็น 1 ในสมาชิกคณะราษฎร และหลวงนิเทศกลกิจ ได้กลับมาขอร้องให้ท่านช่วยแต่งเพลงชาติอีกครั้ง โดยอ้างว่าเป็นความต้องการของคณะผู้ก่อการ ท่านเห็นว่าคราวนี้หมดหนทางจะบ่ายเบี่ยง เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองในตอนนั้นอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ จึงขอเวลาในการแต่งเพลงนี้ 7 วัน และเเต่งสำเร็จในวันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่ท่านได้กำหนดนัดหมายไว้ ขณะที่ท่านนั่งอยู่บนรถรางสายบางขุนพรหม-ท่าเตียน เพื่อไปปฏิบัติราชการที่สวนมิสกวัน ได้เรียบเรียงเสียงประสานสำหรับให้วงดุริยางค์ทหารเรือบรรเลงและมอบโน๊ตเพลงนี้ให้หลวงนิเทศกลกิจนำไปบรรเลง ในการบรรเลงดนตรีประจำสัปดาห์ที่พระที่นั่งอนันตสมาคมในวันพฤหัสบดีถัดมา พร้อมทั้งกำชับว่าให้ปิดบังชื่อผู้เเต่งเพลงนี้เอาไว้ด้วย ต่อมาหนังสือพิมพ์ศรีกรุงได้ลงข่าวเรื่องการประพันธ์เพลงชาติใหม่โดยเผยว่า พระเจนดุริยางค์เป็นผู้แต่งทำนองเพลงนี้ ทำให้พระเจนดุริยางค์ถูกเจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ เสนาบดีกระทรวงวัง ตำหนิอย่างรุนแรงในเรื่องนี้ แม้ภายหลังพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรี ได้ชี้เเจงว่าท่านและสมาชิกสภาผู้เเทนราษฎรเป็นผู้คิดการแต่งเพลงนี้ และเพลงนี้ก็ยังไม่ได้รับรองว่าเป็นเพลงชาติเนื่องจากยังอยู่ในระหว่างการทดลองก็ตาม แต่พระเจนดุริยางค์ก็ได้รับคำสั่งปลดจากทางราชการให้รับเบี้ยบำนาญ ฐานรับราชการครบ30ปี และหักเงินเดือนครึ่งหนึ่งเป็นเงินบำนาญ อีกครึ่งหนึ่งที่เหลือเป็นเงินเดือน โดยได้รับราชการต่อไปในอัตราเงินเดือนใหม่นี้ ในเดือนตุลาปีเดียวกันนั้นเอง

ผู้ประพันธ์เพลงชาติไทยคนแรกสุด คือ ขุนวิจิตรมาตรา

เนื้อร้องของเพลงชาตินั้น คณะผู้ก่อการได้ทาบทามให้ขุนวิจิตรมาตรา หรือ สง่า กาญจนาคพันธ์ เป็นผู้ประพันธ์โดยคำร้องที่แต่งขึ้นนั้นมีความยาว 2 บท สันนิษฐานว่าเสร็จอย่างช้าก่อนวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2475 เนื่องจากมีการค้นพบโน๊ตเพลงพร้อมด้วยเนื้อร้องซึ่งตีพิมพ์โดยโรงพิมพ์ศรีกรุง ซึ่งลงวันที่ตีพิมพ์ในวันดังกล่าว แม้เพลงนี้จะได้รับความนิยมจากประชาชนทั่วไปก็ตาม แต่เพลงนี้ก็ยังไม่ได้มีการประกาศเป็นเพลงชาติอย่างเป็นทางการ และมีการจดจำต่อๆกันไปเรื่อยๆ โดยไม่มีใครรู้ที่มาที่ชัดเจน และมีปรากฏว่า มีการคัดลอกเนื้อเพลงชาติของขุนวิจิตรมาตราส่งเข้าประกวดเนื้อเพลงชาติฉบับราชการ ในปี พ.ศ. 2476 โดยอ้างว่าตนเองเป็นผู้แต่ง เนื้อร้องที่ขุนวิจิตรมาตราประพันธ์เริ่มแรกสุดแต่ไม่เป็นทางการและเป็นฉบับต้องห้าม การจะมีการแก้ไขเมื่อมีการประกวดเนื้อเพลงชาติฉบับราชการ ในพ.ศ. 2476 มีดังนี้ (โปรดเทียบกับเนื้อร้องฉบับราชการ พ.ศ. 2477 ในหัวข้อ เพลงชาติไทยฉบับ พ.ศ.2475 และ พ.ศ.  2477)

เพลงชาติสยาม พ.ศ. 2477

ในปีพ.ศ. 2477รัฐบาลได้จัดประกวดเนื้อร้องเพลงชาติใหม่ โดยมีคณะกรรมการพิจารณาเพลงชาติ ประกอบด้วย พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ทรงเป็นประธานและมีกรรมการท่านอื่นๆ คือ พระเรี่ยมวิรัชพากย์ พระเจนดุริยางค์ หลวงชำนาญนิติเกษตร จางวางทั่ว พาทยโกศล และนายมนตรี ตราโมท การประกวดเพลงชาติในครั้งนี้ได้แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ เพลงชาติแบบไทย และเพลงชาติแบบสากล

เพลงชาติสยาม พ.ศ. 2478

ในปีพ.ศ. 2478 รัฐบาลของพระยาพหลพลพยุหเสนา ได้ออกระเบียบการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีและเพลงชาติ ลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2478 และ มีผลบังคับใช้ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ .2478 ระเบียบการดังกล่าวนี้ได้มีกำหนดให้แบ่งการบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีและเพลงชาติออกเป็น 2 แบบ คือ การบรรเลงแบบพิศดารหรือการบรรเลงตามความยาวปกติเต็มเพลง และการบรรเลงแบบสังเขป ในกรณีของเพลงชาตินั้นได้กำหนดให้บรรเลงเพลงฉบับสังเขปในพิธีที่เกี่ยวข้องกับประชาชน สันนิบาต สโมสร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพิธีปกติ ส่วนการบรรเลงแบบเต็มเพลงให้ใช้ในพิธีใหญ่เท่านั้น

เพลงชาติไทย พ.ศ. 2482

ในปีพ.ศ. 2482 ประเทศสยาม ได้เปลี่ยนชื่อเป็นประเทศไทย รัฐบาลจึงได้จัดการประกวดเนื้อร้องเพลงชาติไทยใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนชื่อประเทศ โดยยังคงใช้ทำนองของพระเจนดุริยางค์อยู่ และกำหนดให้มีเนื้อร้องเพียง8วรรคเท่านั้น และต้องปรากฏคำว่า ไทย อยู่ในเนื้อเพลงด้วย ผลการประกวดปรากฏว่าเนื้อร้องของพันเอกหลวงสารานุประพันธ์ ซึ่งส่งประกวดในนามกองทัพบกได้รับรางวัลชนะเลิศ รัฐบาลจึงได้ประกาศรับรองให้ใช้เป็นเนื้อร้องของเพลงชาติไทย และในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2482 ได้มีการแก้ไขคำร้องจากต้นฉบับที่ส่งประกวดเล็กน้อย แล้วใช้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

วันอาทิตย์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2559

ประวัติ 3 บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการแต่งเพลงชาติไทย

พระเจนดุริยางค์


ภาพพระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร)
    พระเจนดุริยางค์ หรือ ปิติ วาทยะกร  เกิดเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2426 นามเดิมของท่านคือ Peter Feit ( ปีเตอร์ ไฟท์ ) กำเนิดที่ตำบลบ้านทวาย อำเภอบ้านทวาย จังหวัดพระนครฯ บิดาเป็นชาวเยอรมันชื่อ Jacob Feit ( จาคอบ ไฟท์ ) มารดาเป็นชาวไทยเชื้อสายมอญชื่อ นางทองอยู่

    พระเจนดุริยางค์ เริ่มเข้าเรียนหนังสือที่โรงเรียนอัสสัมชัญบางรัก เมื่อปี พ.ศ. 2433 และได้จบการศึกษาหลักสูตรภาษาฝรั่งเศษและภาษาอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ. 2433 จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2444 ภายหลังได้สำเร็จการศึกษาจึงได้สมัครเป็นครูที่โรงเรียนอัสสัมชัญและภายหลังประมาน 2 ปี หรือในช่วงปี พ.ศ. 2446 จึงเข้ารับราชการในกรมรถไฟหลวง

    เมื่อปี พ.ศ. 2460 พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้โอนพระเจนดุริยางค์มาเป็นครูในกรมมหรสพ ซึ่งต่อมาได้โอนมาอยู่กรมศิลปากร ในตำแหน่งครูวงเครื่องสายฝรั่งหลวง และทำหน้าที่เป็นผู้สอนวิชาดนตรีสากลให้กับสามัคยาจารยสมาคมและผลักดันให้วิชาขับร้องเป็นวิชาเลือกในการสอบเลื่อนวิทยฐานะทั้งชุดของครูประถมและครูมัธยม

ตัวอย่างผลงานที่โดดเด่นของพระเจนดุริยางค์
  • ประพันธ์ทำนองเพลงชาติไทย
  • ริเริ่มสร้าง เพลงไทยประสานเสียง สำหรับการบรรเลงเพลงไทยด้วยเครื่องดุริยางค์สากล โดยเคาะระนาดเทียบเสียงโน๊ตสากลทุกตัว เพื่อให้เสียงตรงกับต้นฉบับเพลงไทยเดิม ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของเพลงไทยเดิมที่บรรเลงด้วยวงดุริยางค์สากล กรมศิลปกร
  • ประพันธ์เพลงไทยประสานเสียงประกอบภาพยนตร์ เรื่อง พระเจ้าช้างเผือก บทและอำนวยการสร้างโดย นายปรีดี พนมยงค์ , บ้านไร่นาเรา ของกองภาพยนตร์กองทัพอากาศ ทุ่งมหาเมฆ
  • เรียบเรียงทำนองเพลงไทยประสานเสียง ได้แก่ ต้นบรเทศ , แขกเชิญเจ้า , ปฐม , ขับไม้บัณเฑาะว์ , พม่าประเทศ ฯลฯ รวมทั้งเพลงประกอบการเเสดง และละครเวที
  • เรียบเรียงตำราวิชาดนตรีสากลเป็นภาษาไทย เช่น ทฤษฎีการดนตรีเบื้องต้น , การประสานเสียงเบื้องต้น , ตำราประสานเสียง 3 เล่มจบ
พระเจนดุริยางค์ ได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2511 ( อายุ 85 ปี 5 เดือน)


**********************************************************

ขุนวิจิตรมาตรา



    ขุนวิจิตรมาตรา หรือ สง่า กาญจนาคพันธุ์ เกิดเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2440 เป็นบุตรชายคนเดียวของบิดามารดา บิดาชื่อ ขุนสารการ (ทองดี) และมารดาชื่อ พับ ขุนสารการ มีอาชีพรับราชการ สังกัดกระทรวงมหาดไทยและเป็นผู้พิพากษา

ขุนวิจิตรมาตรา สมรสกับ นางสาววิเชียร อภิวัฒน์ มีบุตร-ธิดา รวม 7 ท่าน คือ
  • นายโสภณ  กาญจนาคพันธุ์
  • นายโสภิณ  กาญจนาคพันธุ์
  • นางโสภา  เปี่ยมพงศ์สานต์ ( ภรรยา นายเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ )
  • นายชาญ   กาญจนาคพันธุ์
  • นายดิเรก   กาญจนาคพันธุ์
  • นางสีแพร  จริตงาม ( ภรรยา เรืออากาศเอกสงวน จริตงาม )
  • ร้อยตรีเอก  กาญจนาคพันธุ์
    ขุนวิจิตรมาตรา จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 8 จากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย แล้วเข้ารับราชการเป็นล่ามภาษาอังกฤษในกรมแผนที่ กระทรวงกลาโหม เมื่อปี พ.ศ. 2463 ต่อมาในปี พ.ศ. 2467 ได้รับการโอนย้ายไปรับราชการในกระทรวงพาณิชย์ จนเกษียณอายุในตำแหน่งหัวหน้ากองมาตราชั่งตวงวัดเมื่อปี พ.ศ. 2500

    ท่านเริ่มชีวิตนักประพันธ์ด้วยการเขียน บทละครร้อง ตั้งแต่อายุ 20 ปี หลังจากนั้นก็ได้ทำงานเขียนประเภท นิยาย สารคดี การประพันธ์เพลง หรือแม้แต่งานทางด้านภาพยนตร์

ตัวอย่างผลงานที่โดดเด่นของ ขุนวิจิตรมาตรา

  • ผลงานด้านการประพันธ์ เช่น ประพันธ์คำร้องของเพลงชาติไทยฉบับแรกของสยาม ฉบับชั่วคราว (7 วัน) เมื่อปี พ.ศ. 2475 และได้แก้ไขเพิ่มเติมสำหรับเข้าประกวดเพลงชาติฉบับราชการในปี พ.ศ. 2476 เป็นต้น
  • ผลงานด้านภาพยนตร์ เช่น รบระหว่างรัก (2474) กำกับ/เรื่อง (หนังเงียบ) , หลงทาง (2475) กำกับ/เรื่องและเพลง , ท้าวกกขนาก (2475) กำกับ/เรื่อง (หนังเงียบ) เป็นต้น
  • ผลงานด้านละครไทย เช่น ศรอนงค์ (เรื่องและเพลง ละครเวทีคณะของพระนางเธอลักษมีลาวัณ ช่วงสงครามมหาเอเซียบูรพา ศาลาเฉลิมกรุง พ.ศ. 2486) เป็นต้น
  • ผลงานด้านหนังสือ เช่น สำนวนไทย, 80 ปี ในชีวิตข้าพเจ้า, ภูมิศาสตร์สุนทรภู่, คอคิดขอเขียน เป็นต้น

ขุนวิจิตรมาตรา ได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2523 ( อายุ 83 ปี )


**********************************************************

ฉันท์  ขำวิไล



    ฉันท์  ขำวิไล  เกิดเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2447 เริ่มการเขียนหนังสือตั้งแต่บวชพระขณะที่จำพรรษาอยู่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ หนังสือเล่มแรกที่เขียนว่าด้วย วิธีบวก ลบ คูณ หาร ต่อมาได้แต่งเรื่อง นิราศลาสิกขา ,  ตำราฉันทศาสตร์ , ตำนานนิราศ , กาพย์เห่เรือ นิราศฉันทโสภณ และกลอนกำศรวลวังหลัง โดยเฉพาะกลอนเรื่องนิราศลาสิกขา เป็นที่พอพระทัยของสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพมากถึงกับทรงเรียกให้เข้าเฝ้า และยังเป็นนักเขียนชาวไทย ผู้ประพันธ์ " ป้ากะปู่กู้อีจู้ " ซึ่งเป็นบทเรียนภาษาไทยชั้นประถมศึกษาในยุคแรกๆ และบทเพลงสำหรับเด็ก

ตัวอย่างผลงานที่โดดเด่นของ ฉันท์ ขำวิไล

  • เพลงชาติสยาม เนื้อร้องโดย " ฉันท์ ขำวิไล " เป็นเนื้อร้องชนะเลิศการประกวดและให้ร้องต่อจากเนื้อร้องท่อนจบของขุนวิจิตรมาตรา และได้ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาในปี พ.ศ. 2477 ถือเป็นเนื้อร้องเพลงชาติฉบับทางการฉบับแรกของสยาม
  • วิธีบวก ลบ คูณ หาร
  • กลอน นิราศลาสิกขา
  • กลอน กำศรวลวังหลัง
  • กาพย์เห่เรือเรื่อง นิราศฉันทโสภณ
  • ตำราฉันทศาสตร์
  • 100 ปีของสุนทรภู่ แต่งเมื่อปี พ.ศ. 2498
  • ประชุมนิราศสุนทรภู่ แต่งเมื่อปี พ.ศ. 2499
  • แบบเรียนเร็วใหม่ เล่ม1 ของชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ฯลฯ

ฉันท์ ขำวิไล ถึงเเก่กรรมเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2533 ( อายุ 86 ปี )


บทความนี้เขียนและเรียบเรียงใหม่โดย http://ร้องเพลงชาติไทย.blogspot.com/
สามารถนำบทความนี้ไปใช้ได้โดยไม่ต้องขออนุญาติ แต่ให้อ้างอิงกลับมาที่นี่ จะเป็นพระคุณยิ่ง
บทความนี้เผยแพร่เมื่อวันที่ ๒๗/๐๓/๒๕๕๙ 

วันเสาร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2559

กลอนเพลงชาติไทย

กลอนเพลงชาติไทย
ธงชาติไทย ไกวกวัด สะบัดพลิ้ว             แลริ้วๆสลับงามเป็นสามสี
ผ้าผืนน้อยบางเบาเพียงเท่านี้                       แต่เป็นที่รวมชีวิตและจิตใจ
       ชนรุ่นเยาว์ ยืนเรียบระเบียบแถว           ดวงตาแน่วนิ่งตรง ธงไสว
ประเทศไทย รวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย            ฟังคราใดเลือดซ่านพล่านทั้งทรวง
       ผืนแผ่นดินถิ่นนี้ที่พำนัก                      เราแสนรักและแสนจะแหนหวง
แผ่นดินไทย ไทยต้องครองทั้งปวง               ชีพไม่ร่วงใครอย่าล้ำมาย่ำยี
       เธอร้องเพลงชาติไทยมั่นใจเหลือ           พลีชีพเพื่อชาติที่รักสมศักดิ์ศรี
เพลงกระหึ่มก้องฟ้าก้องธาตรี                    แม้นไพรีได้ฟังยังถอนใจ
       แต่สิ่งหนึ่งซึ่งไทยร้าวใจเหลือ                คือเลือดเนื้อเป็นหนอนคอยบ่อนไส้
บ้างหากินบนน้ำตาประชาไทย                   บ้างฝักใฝ่ลัทธิชั่วน่ากลัวเกรง
       ทุกวันนี้ศึกไกลยังไม่ห่วง                    แต่หวั่นทรวงศึกใกล้ไล่ข่มเหง
ถ้าคนไทยหันมาฆ่ากันเอง                         จะร้องเพลงชาติไทยให้ใครฟัง


กลอนเพลงชาติไทยขับร้องโดย นาย สงกรานต์ มหากาฬ


ที่มา หนังสือดอกไม้ใกล้หมอน
ของ นภาลัย ฤกษ์ชนะ(สุวรรณธาดา)

วันศุกร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2559

เพลงชาติไทย แปลภาษาอังกฤษ (Thai national anthem)

แปลเพลงชาติไทย ( Thai national anthem)
หลายคนอาจจะเคยฟังแต่เนื้อร้องเพลงชาติภาษาไทยซึ่งหลายคนอาจจะคุ้นหูเวอร์ชั่นปกติมาแล้ว แต่ถ้าเรามาลองแปลเป็นภาษาอังกฤษและขับร้องออกมาเป็นภาษาอังกฤษละ เป็นยังไง!! ไปดูกันครับ

ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย
Thailand unites Thai people with flesh and blood.

เป็นประชารัฐ ไผทของไทยทุกส่วน
It is land of Thailand belongs to the Thais.

อยู่ดำรงคงไว้ได้ทั้งมวล
Long maintained its independence.

ด้วยไทยล้วนหมาย รักสามัคคี
Because the Thais unite together.

ไทยนี้รักสงบ แต่ถึงรบไม่ขลาด
Thais are peace-loving, but do not fear to fight.

เอกราชจะไม่ให้ใครข่มขี่
They will never let anyone threaten their sovereignty.

สละเลือดทุกหยาดเป็นชาติพลี
Sacrificing every drop of their blood for the nation.

เถลิงประเทศชาติไทยทวี มีชัย ชโย
Hail the nation of Thailand, long last the victory, Hurrah.[ Cheers]

ทำนอง: พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร)
คำร้อง: พันเอก หลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์)
เรียบเรียงบทความใหม่โดย http://ร้องเพลงชาติไทย.blogspot.com

วันอังคารที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

การเกิดของเพลงชาติ


เพลงชาติมีที่มาได้ 3 ลักษณะ ดังนี้
1.เพลงชาติเกิดจากเพลงที่ประชาชนนิยม: เพลงชาติประเภทนี้เกิดจากเพลงที่คนนิยมร้องทั่วไปไปในทุกโอกาส เป็นเพลงที่ประชาชนมีความศรัทธานิยมชมชอบ เช่น เพลงก็อดเซฟเดอะควีน (God Save The Queen) ของสหราชอาณาจักร เพลง Land der Berge, Land am Strome ของประเทศออสเตรีย เป็นต้น
2.เพลงชาติเกิดจากความกดดันทางการเมือง : โดยเหตุที่เพลงเป็นเครื่องมือประกอบกิจกรรมทางการเมืองมาตลอด เพลงชาติประเภทนี้จึงเกิดขึ้นจากการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงทางการปกครองและการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม เช่น เพลงลามาร์แซแยส (La Marseillaise) ของประเทศฝรั่งเศส เพลงชาติไทยของประเทศไทย ฯลฯ
3.เพลงชาติที่เกิดขึ้นโดยลัทธิชาตินิยม : เพลงชาติประเภทนี้เริ่มเกิดขึ้นในยุคโรแมนติก โดยคีตกวีชาวรัสเซียชื่อ ไมเคิล อิแวนโนวิช กลินกา ได้ประพันธ์เพลงเกี่ยวกับการต่อสู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคืออุปรากรเรื่อง "A Life for the Tzar" เพื่อปลุกเร้าให้ชาวรัสเซียเกิดความรักชาติ อันเนื่องจากขณะนั้นรัสเซียถูกรุกรานโดยชาวโปล บทเพลงเหล่านี้ได้กระตุ้นให้กลุ่มคนต่าง ๆ เกิดความคิดชาตินิยมที่จะใช้เพลงชาติเป็นเครื่องหมายแบ่งแยกดินแดน ศาสนา เชื้อชาติ และผลประโยชน์ออกจากกัน แนวคิดดังกล่าวนี้ได้แผ่ขยายไปยังยังกลุ่มเชื้อชาติต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง และเกิดบทเพลงปลุกเร้าให้เกิดความรักชาติขึ้นจำนวนมากจากคีตกวีต่าง ๆ ทั้งนี้ งานเพลงหลายชิ้นไม่ได้เป็นเพลงชาติโดยตรง แต่ก็กระตุ้นให้เกิดความคิดรักชาติตามลัทธิชาตินิยม และทำให้กลุ่มนักการปกครองทั้งหลายสนใจที่จะมีเพลงประจำชาติเฉพาะขึ้นมาเป็นของคนไทย
ที่มาจาก wikipedia

วันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

เพลงชาติ หมายถึงอะไร? เรามีคำตอบ!

ภาพธงชาติไทย

เพลงชาติ หมายถึง บทเพลงที่ประพันธ์ขึ้น เพื่อปลุกเร้าให้ระลึกถึงหรือสรรเสริญประวัติศาสตร์ชาติ ขนบธรรมเนียมประเพณีของชาติ หรือการต่อสู้ของคนในชาติ โดยได้รับการยอมรับจากรัฐบาลของชาตินั้นๆอย่างเป็นทางการ หรือการตกลงร่วมกันของคนในชาติว่า เพลงดังกล่าวเป็นเพลงประจำชาติของตน ในหนังสือเพลงชาติ โดย สุกรี เจริญสุข ได้กล่าวถึงความหมายของเพลงชาติไว้ 4ประการ คือ 1.เพลงชาติสามารถแสดงถึงความเป็นชาติของประชาชนในชาตินั้นๆได้ 2.เพลงชาติสามารถแสดงถึงฐานะทางการเมืองว่าเป็นประเทศที่มีเอกราช ไม่ขึ้นแก่ใคร 3.เพลงชาติเป็นสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายประจำชาติ 4.เพลงชาติเป็นกลิ่นไอทางศิลปวัฒนธรรมของประชาชนในกลุ่มชนชาตินั้นๆ

เรียบเรียงใหม่โดย http://ร้องเพลงชาติไทย.blogspot.com/

ทำไมถึงต้องเคารพธงชาติเวลา 8 โมงเช้าและ 6 โมงเย็น ??

เครารพธงชาติ
   การเคารพธงชาติวันละสองเวลา คือตอนแปดโมงเช้าและหกโมงเย็น เป็นหนึ่งในการรณรงค์เพื่อรัฐนิยม สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี แต่พอสิ้นยุครัฐนิยม ธรรมเนียมนี้ก็ซาๆไป

   ต่อมาเมื่อคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินเข้ายึดอำนาจเมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ และมีการตั้งรัฐบาลในเวลาต่อมา โดยมี นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลลงมติเห็นชอบในหลักการตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอให้กำหนดเวลาชักธงชาติขึ้นสู่ยอดเสาเวลา ๐๘.๐๐ น. และเชิญธงลงจากเสาเวลา ๑๘.๐๐ น. และเชิญชวนให้ข้าราชการหยุดยืนเคารพธงชาติในเวลา ๐๘.๐๐ น. เพื่อเป็นตัวอย่างอันดีแก่ประชาชนทั่วไป

  โดย ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องระเบียบการชักธงชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๑๙ ลงวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๑๙

   หลังจากระเบียบนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ตามสี่แยกต่าง ๆ จะมีผู้นำเครื่องขยายเสียงไปติดตั้ง และเปิดรับฟังการเทียบเวลาจากสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ทุกเวลาแปดโมงเช้าและหกโมงเย็น ผู้ที่ได้ยินได้ฟังเพลงต่างก็จะหยุดยืนแสดงความเคารพธงชาติ จนแม้รถที่กำลังเคลื่อนที่อยู่ก็จะหยุดแสดงความเคารพเช่นกัน

เข้าใจว่าการออกอากาศเพลงชาติไทยทางโทรทัศน์ตอนหกโมงเย็นพร้อมกันทุกช่อง ก็คงเริ่มขึ้นในช่วงเวลานี้

เรียบเรียงใหม่โดย http://ร้องเพลงชาติไทย.blogspot.com

Ads Inside Post